วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557


บทที่  ๑ บทนำ
1.1ที่มาและความสำคัญ
เนื่องด้วยผู้ศึกษาไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมุนไพรต่างๆมากนัก เลยมีแนวความคิดจัดทำโครงงานเรื่อง  สมุนไพรในท้องถิ่นจึงอยากมีความรู้เรื่องสมุนไพรต่างๆเพื่อประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อที่จะได้ออกสัมภาษณ์ลงมือปฏิบัติจริงและได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เรื่องสมุนไพรในท้องถิ่นด้วยตนเอง  และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และชาวบ้าน,หมู่บ้านใกล้เคียงและมีความเชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรต่างๆมากขึ้นและมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริง ทุกคนต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมุนไพรต่างๆการศึกษาโครงงานเรื่อง สมุนไพรในท้องถิ่นจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าต้องการรู้จักเรื่องสมุนไพรต่างๆเช่น มะนาว กะเพรา ขมิ้น กระเทียม ขิง ข่า ว่านหางจระเข้ ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร  เป็นต้นได้ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มาก จากข้อความดังกล่าวผู้ศึกษาจึงทำโครงงานเรื่องสมุนไพรในท้องถิ่นขึ้น
1.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.เราสามารถนำข้อมูลมานำเสนอให้กับคนในชุมชนได้รู้จักกับสมุนไพรในชุมชน                      
2.เราสามารถนำสมุนไพรในท้องถิ่นมารักษาโรคได้                                                                                          3.เราสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้                                                      
4.เราสามารถนำมารักษาโรคและไม่เสี่ยงต่อการรักษาโรคเพราะสมุนไพรไม่มีสารเคมี                                          5.เราสามารถนำมาประกอบอาหารได้



บทที่  ๒
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่สารที่เกี่ยวข้อง
สมุนไพร (Medicinal plant) ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 หมายถึง พืช ที่นำไปทำเป็นเครื่องยา มีสรรพคุณในการรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ (หาได้ตามพื้นบ้าน หรือป่า) ส่วนคำว่า “ยาสมุนไพร” ตามพระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2510 หมายถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ แร่ธาตุ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพ แต่การนำไปใช้สามารถดัดแปลงรูปลักษณะเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น อาทิ การนำไปหั่นให้เล็กลง การนำไปบดเป็นผง เป็นต้น การใช้บำบัดอาจใช้แบบสมุนไพรเดี่ยวๆ หรืออาจใช้ในรูปของตำรับยาสมุนไพร
คนไทยเราใช้สมุนไพรต่างๆมาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่สมัยอดีตที่มีวิทยาการแพทย์ยังไม่ก้าวล้ำนำสมัยเฉกเช่นในปัจจุบันนี้สมุนไพร ชนิดต่างๆล้วนมีสรรพคุณเป็นโดยไม่ค่อยจะมีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ใดๆอย่างที่ยาฝรั่งสมัยนี้มีแม้ว่าในปัจจุบันจะสะดวกสบายกับยาแผนปัจจุบันที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่การเรียนรู้จักสมุนไพรไทยไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ว่าสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาอย่างไร และจะนำมาตำหรือต้มอย่างไรจึงจะถูกทางกับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านเป็นยาตำรับพื้นๆ เช่น รักษาอาการผดผื่น พุพอง เป็นลมพิษ หรืออักเสบเพราะแมลงกัดต่อย รักษาหิด เหา กลาก เกลื้อน แก้เบาหวาน บรรเทาอาการหอบหืด รักษารังแค ผมร่วงและอาการไม่สบายต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพราะมิใช่ตำรับยาที่มีขั้นตอนการปรุงซับซ้อน ขอเพียงให้รู้จักชนิดของสมุนไพรและนำมาบำบัดรักษาให้ถูกโรคเท่านั้น ทุกบ้านทุกครอบครัวสามารถปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ด้วยสมุนไพรพื้นบ้านที่รู้จักกันดี และสามารถปลูกหรือเสาะหาได้ไม่ยากเลยในปัจจุบัน
การจำแนกพืชสมุนไพร
การจำแนกพืชสมุนไพรสามารถจำแนกได้หลายวิธี ดังนี้
1. การจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์
1.1. สมุนไพรที่ใช้เป็นยา แบ่งได้เป็นยารับประทาน ซึ่งนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคได้ เช่น บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ใช้แก้ไข้ เป็นต้นและยาสำหรับใช้ภายนอก เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาบำบัดโรคที่เกิดขึ้นตามผิวหนังแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกายเช่น บัวบก ว่านหางจระเข้ ใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวก เป็นต้น
1.2. สมุนไพรที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มพืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ เช่น บุก ดูดจับไขในจากเส้นเลือด ส้มแขก ยับยั้งกระบวนการสร้างไขมันจากแป้ง
1.3. สมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง เช่น ขมิ้นชัน ไพล อัญชัน ว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เห็ดหลินจือ ที่เป็นส่วนผสมในแชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่นเป็นต้น
1.4. สมุนไพรที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่สมุนไพรที่ใช้ในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืช เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เบื่อเมาหรือมีรสขม เช่น สะเดา ยาสูบ ตะไคร้หอม หางไหล หนอนตายหยาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ใช้ในการ ปศุสัตว์ เช่น ฟ้าทะลายโจร ใช้ผสมอาหารสัตว์เป็นต้น
1.5. สมุนไพรที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย เช่น โหระพา มะกรูด
2. การจำแนกตามลักษณะภายนอกพืช
2.1 ไม้ยืนต้น (tree) เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นใหม่ ลำต้นเดี่ยว สูงมากกว่า 6 เมตร เจริญเติบโตตั้งตรงขึ้นไป
2.2 ไม้พุ่ม(shrub) เป็นต้นไม้ที่มีเนื้อไม้ขนาดเล็ก และเตี้ยมีหลายลำต้นที่แยกจากดินหรือลำต้นจะแตกกิ่งก้านใกล้โคนต้น หรือมีลำต้นเล็กๆ หลายต้นจากโคนเดียวกัน ทำให้ดูเป็นกอหรือเป็นพุ่ม
2.3 ไม้ล้มลุก (herb) เป็นพืชที่มีลำต้นอ่อน ไม่มีเนื้อไม้ หักง่าย มีอายุ 1 หรือหลายปี
2.4 ไม้เลื้อยหรือไม้เถา (climber) เป็นพืชที่มีลำต้นยาว ไม่สามารถตั้งตรงได้ต้องอาศัยสิ่งยึดเกาะตามกิ่งไม้ อาศัยส่วนของพืชเกาะ อาจเป็นลำต้น หนวดหรือนามก็ได้
3. การจำแนกตามหลักพฤกษศาสตร์
จำแนกตามลักษณะของโครงสร้างของดอก รวมทั้งความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการพืช โครงสร้างการจำแนกตามหลักนี้ ถือว่าเป็นระบบที่ถูกต้องแน่นอนที่สุด เป็นที่ยอมรับทางสากล โดยพืชที่อยู่ในตละกูลหรือจีนัส(genus) เดียวกันจะบอกความสัมพันธ์และแหล่งกำเนิด มีความต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต การควบคุมโรคแมลงที่คล้ายคลึง ซึ่งพืชสมุนไพรเหล่านี้จะมีชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อวงศ์ เพื่อจำแนกพืชสมุนไพรได้ถูกต้อง
การเก็บสมุนไพรเพื่อใช้ทำยา
วิธีการเก็บเกี่ยวสมุนไพรเพื่อนำไปใช้ทำยาจะมีผลโดยตรงต่อคุณสมบัติทางเคมีและฤทธิ์ทางยาสมุนไพรควรเก็บสมุนไพรในวันที่อากาศแห้ง ในระยะที่พืชโตเต็มที่ หรือในช่วงที่พืชสะสมปริมาณของตัวยาไว้ค่อนข้างสูง หลังการเก็บสมุนไพรแล้วควรทำให้แห้งเร็วที่สุดด้วยการตากหรือการอบ เมื่อสมุนไพรแห้งดีแล้ว ควรจัดเก็บให้ดีเพื่อรักษาคุณภาพและฤทธิ์ทางยาไว้
1. การเก็บดอกควรเก็บในตอนเช้าหลังหมดน้ำค้าง โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน หรือบานเต็มที่แล้ว แต่บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม เช่น ดอกกานพลู การเก็บดอกควรเก็บด้วยความ ทะนุถนอม เพราะส่วนดอกมักเสียหายได้ง่าย
2. การเก็บใบ โดยทั่วไปควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด ช่วงที่ใบมีสีเขียวสด ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป ถ้าเป็นใบ ใหญ่ก็เด็ดเป็นใบๆ ล้างให้สะอาดแล้วตากแห้ง ถ้าเป็นใบเล็กให้ตัดมาทั้งกิ่งมัดเป็นกำ แล้วแขวนตากไว้ทั้งกำแห้งดีแล้วรุดออกจากกิ่ง เก็บในภาชนะที่ทึบปิดฝาให้สนิท ถ้าเป็นพืชที่มีน้ำมันไม่ควรตากแดดควรผึ่งลมไว้ในที่ร่ม เช่น กะเพรา สะระแหน่
3. ในกรณีที่เป็นเมล็ดขนาดเล็ก เก็บเมื่อเมล็ดเกือบจะสุก แก่เต็มที่ เพื่อป้องกันการถูกลมพัดให้กระจัดกระจายไปโดยเก็บมาทั้งกิ่ง แล้วมัดรวมเป็นกำแขวนไว้ให้หัวทิ่มลงเหนือถาดที่รองไว้ ในกรณีที่เก็บเมล็ดจากผลให้เก็บผลที่สุกแก่เต็มที่นำมาตากให้แห้ง แล้วจึงเอาเปลือกออก เอาเมล็ดออกมาตากให้แห้งอีกครั้ง พืชสมุนไพรบางชนิดเก็บผลในช่วงที่ยังไม่สุก เช่น ฝรั่งเก็บผลอ่อน ใช้แก้ท้องร่วง แต่โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่หรือสุกใหม่ๆ แต่อย่าให้สุกจนเละ จะทำให้แห้งยากเมื่อนำไปตากแดด หรืออบ
4. การเก็บรากและหัว ควรเก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบ ดอก ร่วงหมด หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน ช่วงนี้หัวและรากจะมีการสะสมปริมาณของตัวยาไว้ค่อนข้างสูง
5. การเก็บเมือกหรือยางจากต้นไม้ ให้กรีดรอยลึกๆ ลงบนเปลือกไม้ หรือด้วยการเจาะรูแล้วใช้ถ้วยรอง เมือกหรือยางของต้นไม้บางชนิดอาจเป็นพิษระคายเคืองควรสวมถุงมือ ขณะกรีดยาง สำหรับว่านหางจระเข้ เลือกใบที่อวบแล้วใช้มีดผ่าเปลือกนอกตรงกลางตามแนวยาวของใบ แล้วแหวกเปลือกออก จากนั้นใช้ด้านทื่อของมีดขูดเมือกของว่านหางจระเข้ออก
6. การเก็บเปลือกโดยมากเก็บระหว่างฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน จะมีปริมาณยาค่อนข้างสูง และลอกเปลือกได้โดยง่าย
การแปรรูปสมุนไพร
สมุนไพรถูกนำมาใช้สารพัดประโยชน์ และถูกแปรรูปออกมาในแบบต่าง ๆ สิ่งสำคัญสุดของการแปรรูปสมุนไพร คือ การปรุงยา หมายถึง การสกัดเอาตัวยาออกจากไม้ยา ซึ่งสารที่ใช้สกัดตัวยาที่นิยมใช้ได้แก่ น้ำ และเหล้า สมุนไพรที่นำมาเป็นยาตามภูมิปัญญาดั้งเดิม มีรูปแบบดังนี้
1. ยาต้ม เป็นการสกัดยาให้ออกจากไม้ยาด้วยน้ำร้อน เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดส่วนใหญ่จะใช้ต้มกับส่วนของต้นไม้เนื้อแน่นแข็ง เช่น ลำต้น ราก ต้องใช้การต้มจึงจะมีตัวยาออกมา ข้อดีสำหรับการต้มคือ เป็นวิธีที่สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค
2. ยาชง เป็นการสกัดตัวยาด้วยน้ำร้อนเช่นกัน ใช้กับส่วนของต้นไม้ที่บอบบางอ่อนนุ่ม เช่น ใบ ดอก ที่ไม่ต้องการโดนน้ำเดือดนานๆ ตัวยาก็ออกมาได้ วิธีการชงให้เอายาใส่แก้วเติมน้ำร้อนจัดลงไป ปิดฝา ปล่อยไว้จนเย็น ให้ตัวยาออกมาเต็มที่
3. ยาน้ำมัน สำหรับตัวยาบางชนิดจะไม่ยอมละลายน้ำเลย แม้ว่าจะเคี่ยวแล้วก็ตาม (ส่วนใหญ่ยาที่ละลายน้ำได้ดีจะไม่ละลายน้ำมันเช่นกัน) จึงใช้น้ำมันเป็นตัวสกัดยาแทนน้ำ เนื่องจากยาน้ำมันทาแล้วเหนียว เหนอะเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า จึงไม่นิยมปรุง ใช้กัน
4. ยาดองเหล้า สำหรับตัวยาที่ไม่ยอมละลายน้ำ กับละลายในเหล้า ได้เช่นเดียวกับตัวยาที่ไม่ยอมละลายในน้ำมันยาดองเหล้ามักจะมีฤทธิ์แรงกว่ายาต้ม เนื่องจากเหล้ามีกลิ่นฉุน และหากกินบ่อย ๆ อาจทำให้ติดได้ จึงไม่นิยมกินกัน จะใช้ต่อเทื่อกินยาเม็ดหรือยาต้มแล้วยังไม่ได้ผล
5. ยาตำคั้นเอาน้ำ เอายามาตำให้ละเอียดและคั้นเอาแต่น้ำออกมา มักใช้กับส่วนของต้นไม้ที่มีน้ำมากๆอ่อนนุ่ม ตำให้แหลกง่าย เช่น ส่วนใบ หัว หรือเหง้า ยาประเภทนี้กินมากไม่ได้เช่นกัน เพราะน้ำยาที่ได้จะมีกลิ่นและรสชาติรุนแรงตัวยาก็จะเข้มข้นมาก ยากที่จะกลืนเข้าไปที่เดียว ฉะนั้นกินครั้งละ 1ถ้วยชาก็พอแล้ว
6. ยาผง คือการเอายาไปอบ หรือตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง ยายิ่งเป็นผงละเอียดมาก ก็ยิ่งมีสรรพคุณดีขึ้น เพราะยาผงจะ๔จะถูกดูดซึม เข้าสู่ลำไส้ได้ง่าย ตัวยาจึงเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว ดังนั้น ผงยายิ่งละเอียดยิ่งเป็นผลดี ส่วนยาผงชนิดใดที่กินยากก็ใช้ปั้นเป็นเม็ด หรือที่เรียกว่า เป็นลูกกลอน โดยใช้น้ำเชื่อม น้ำข้าว หรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ยาติดกันเป็นเม็ด ส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำผึ้ง เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ขึ้นรา
7. ยาฝน เป็นวิธีที่หมอพื้นบ้านใช้มาก วิธีฝนคือ หากภาชนะใส่น้ำสะอาดประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วเอาหินลับมีดเล็กๆ จุ่มลงไปให้หินโผล่เหนือน้ำเล็กน้อย ฝนจนได้น้ำยาสีขุ่นข้นเล็กน้อย กินครั้งละ 1 แก้ว
การปรุงยาสมุนไพร
สมุนไพรนอกจากจะสามารถใช้สดๆกินสดๆหรือกินเป็นอาหารแล้ว ยังมีวิธีการปรุง ยาสมุนไพรเพื่อให้ได้สมุนไพรในรูปแบบที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค ใช้ได้สะดวก มีรสและกลิ่นที่ชวนกิน อีกทั้งพกพาสะดวก เก็บไว้ใช้ได้นาน
1. การชง (Infusion) การชงเป็นวิธีพื้นฐานและง่ายสำหรับการปรุงยาสมุนไพร มีวิธีการเตรียมเหมือนกับการชงชา โดยใช้น้ำเดือดเทลงไปใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและแห้ง ภาชนะที่ใช้ชงควรเป็นกระเบื้องแก้ว หรือภาชนะเคลือบไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ
2. การต้ม (Decoction) การต้มเป็นวิธีสกัดตัวยาได้ดีกว่าการชง โดยใช้สมุนไพรสดหรือแห้งต้มรวมกับน้ำ มักใช้รากไม้ กิ่งก้าน เมล็ดหรือผลบางชนิด วิธีการเตรียมทำ โดยการหั่นหรือสับสมุนไพรเป็นชิ้นเล็กๆใส่หม้อต้ม ใส่น้ำให้ท่วมยาสักเล็กน้อย ใช้ไฟขนาดปานกลางต้มจนเดือด แล้วจึงลดไฟให้อ่อน คนยาไปเรื่อยๆเพื่อไม่ให้ยาไหม้ ตามตำราไทยมักจะต้มแบบ 3 เอา 1 คือใส่น้ำ 3 ส่วน ของปริมาณที่จะใช้แล้วต้มให้เหลือ 1 ส่วน ควรทำสด ๆใช้ในแต่ละวัน ไม่ควรทำทิ้งไว้ข้ามคืน
3. การดอง (Tinctuer) การดองด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์นี้ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดตัวยาออกจากสมุนไพร โดยการแช่สมุนไพรสดหรือแห้งในเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ที่ละลายน้ำได้น้อย เหล้าหรือแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการดอง นอกจากจะทำหน้าที่สกัดด้วยตัวยาสมุนไพรแล้วยังเป็นตัวกันบูดอีกด้วย ยาดองจึงเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี
4. การเชื่อม(Syrup) เป็นการเติมน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้งลงในยาชงหรือยาต้ม เพื่อรักษาไว้ได้ใช้นานๆ เหมาะสำหรับการปรุงยาแก้ไอเพราะน้ำผึ้งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ และการที่ยามีส่วนผสมของน้ำผึ้งจะทำให้ยามีรสหวาน รับประทานได้ง่าย
5. การสกัดด้วยน้ำมัน(Infused oils) ตัวยาสมุนไพรสามารถถูกสกัดได้ด้วยการแช่หรือทอดในน้ำมันพืช น้ำมันสมุนไพรที่ได้มักจะใช้สำหรับภายนอกร่างกาย เช่น น้ำมันสำหรับนวด การสกัดยาสมุนไพรด้วยน้ำมันทำได้ 2 วิธี คือวิธีร้อน และวิธีเย็น การสกัดด้วยวิธีเย็น ควรทำซ้ำกันหลายๆ ครั้งโดยการเติมสมุนไพรเข้าไปใหม่จะช่วยให้ตัวยาเข้มข้นขึ้น การสกัดด้วยวิธีร้อน จะใช้ต้มสมุนไพรในน้ำมัน ในหม้อ 2 ชั้น คล้ายกับการตุ๋น หรือต้มในน้ำมันโดยตรง
6. ครีม(Cream) ครีมเป็นส่วนผสมของน้ำกับไขมันหรือน้ำมัน เมื่อทาครีมลงบนผิวหนังแล้วเนื้อครีมจะซึมผ่านผิวหนังลงไปได้ ดังนั้นการทำครีมสมุนไพร จะต้องใช้ตัวที่ช่วยผสาน น้ำให้เข้ากับน้ำมัน เรียกว่า Emulisifying Ointment การทำครีมสมุนไพรไว้ใช้เองสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานหลายเดือน โดยเฉพาะถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น ถ้าต้องการให้เก็บได้นานกว่านั้นต้องผสมสารที่ช่วยกันบูดลงไป
7. ขี้ผึ้ง(Ointment) ขี้ผึ้งจะไม่เหมือนครีมตรงที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำ จะมีแต่ไขมันหรือน้ำมัน ดังนั้น ขี้ผึ้งจึงไม่ซึมผ่านผิวหนังแต่จะเคลือบผิวหน้าไว้อีกขั้นหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับนำมาทาผิวบริเวณที่อ่อนบางหรือบริเวณที่ต้องการปกป้อง เช่น ริมฝีปาก
8. ผง แคปซูล และลูกกลอน (powers Capsuls and Pills) สมุนไพรสามารถบดให้เป็นผงละเอียดแล้วชงน้ำดื่ม หรือโรยผสมอาหาร แต่เพื่อความสะดวกในการรับประทานพกพาและเก็บไว้ได้นานขึ้น ก็สามารถบรรจุในแคปซูล หรือผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนได้ สมุนไพรที่นำมาบดเป็นผงต้องตากให้แห้งสนิท แล้วจึงนำมาบดเป็นผงให้ละเอียด แคปซูล การบรรจุแคปซูล โดยซื้อแคปซูลเปล่าสำเร็จรูปมา แล้วบรรจุผงยาลงไป ยาลูกกลอน เอายาสมุนไพรใส่ชาม เติมน้ำผึ้งทีละน้อย นวดให้เข้า กันจนผงยาทั้งหมดเกาะกันแน่นไม่เหนียวติดมือ ให้สังเกตปริมาณน้ำผึ้งที่ใช้ โดยปั้นลูกกลอนด้วยมือ และถ้าติดมือ ปั้นไม่ได้แสดงว่าน้ำผึ้งมากเกินไป แต่ถ้าแห้งร่วนไม่เกาะกันแสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป
9. ประคบ(Compress) การประคบมักใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดบวมหรือบาดเจ็บที่กล้ามเน้อวิธีง่ายๆ โดยใช้ผ้านุ่ม ๆ จุ่มลงในน้ำต้ม สมุนไพร นำมาประคบไว้บริเวณที่บาดเจ็บ
10. การพอก(Poultice) วิธีนี้คล้ายกับการประคบ แต่จะใช้ส่วนผสมสมุนไพรมาพอกบริเวณที่บาดเจ็บ

บทที่ ๓
วัสดุ อุปกรณ์และวิธีการศึกษา
วัสดุ อุปกรณ์
1. สมุด
2. ปากกา
3. กล้องดิจิตอล
4. หนังสือ
5. ไม้บรรทัด
วิธีดำเนินการศึกษา
1. สำรวจพืชสมุนไพรที่พบภายในบริเวณโรงเรียนและในหมู่บ้านจดบันทึกรายละเอียดและถ่ายรูปพืชสมุนไพรแต่ละชนิดไว้
2. สอบถามผู้รู้ในท้องถิ่นว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้คืออะไรกรณีที่ไม่รู้
3. นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมา จัดจำแนกประเภทและหาข้อมูลเพิ่มเติม จากหนังสือและ internet ให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง แม่นยำ มากที่สุด
4. สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
5. นำเอาพืชสมุนไพรบางชนิดมาแปรรูปเป็นน้ำสมุนไพร เพื่อที่จะสามารถรับประทานได้ง่ายและสะดวกขึ้น


บทที่  ๔
ผลการศึกษาค้นคว้า

ผลการศึกษาค้นคว้า
จากการสำรวจพืชสมุนไพรที่พบภายในบริเวณโรงเรียนและหมู่บ้านพบพืชสมุนไพรทั้งหมด 9 ชนิด โดยจำแนกพืชสมุนไพร ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะ สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีใช้ ขนาดในการใช้ และใช้กับโรคที่เกิดขึ้น แตกต่างกัน ดังนี้
1. มะนาว

ชื่อไทย มะนาว
ชื่อพื้นเมือง โกรยชะม้า (เขมร - สุรินทร์) ปะนอเกล
มะนอเกละ มะเน้าด์เล(กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ปะโหน่งกลยาน (กะเหรี่ยง – กาญจนบุรี)
ส้มมะนาว (ทั่วไป) ลีมานีปีห์ (คาบสมุทรมาเลียใต้)
หมากฟ้า (ชาน - แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus aurati Folia christmonm Swing
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่ม มีหนามตามต้น ก้านใบสั้น ตัวใบ
รูปร่างกลมรี ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายและโคนใบมน ดอก
เล็กสีขาวอมเหลืองกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมเปลือกบางเรียบ
มีน้ำมาก รสเปรี้ยว เปลือกผลมีน้ำมัน กลิ่นหอม รสขม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผล
สรรพคุณและวิธีใช้ ใช้ผลสดคั้นเอาน้ำมาผสมกับเกลือเล็กน้อย ชงกับน้ำร้อนดื่ม
รักษาอาการไอและขับเสมหะ
2.กะเพรา
 


ชื่อไทย กะเพรา
ชื่อพื้นเมือง กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพราขาว กะเพราแดง (กลาง)
ห่อกวอซู่ ห่อตุปลู (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)
อิ่มคิมหลำ (เงี้ยว - แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum Sanctum Linnaeus
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มล้มลุก ซึ่งอาจสูงถึง 1 เมตร ใบเป็นรูปไข่ บางและ
นุ่ม ลำต้นและใบมีขนปกคลุมทั่วไป ใบมีสีเขียว บางสายพันธุ์
สีม่วงอมแดง ใบมีรสเผ็ดร้อน ใช้รับประทานสดได้ ช่อดอกตั้ง
ตรง โดยมีดอกติดรอบแกนช่อเป็นชั้นๆ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ
สรรพคุณและวิธีใช้   1. ใช้ใบสดและยอด 1 กำมือ น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม แห้งประมาณ 4 กรัม  ต้มเอาน้ำ สำหรับรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง เหมาะสำหรับเด็ก
 2. ใช้ใบสด 3 ใบ ผสมเกลือพอสมควร บดให้ละเอียด ละลายในน้ำสุกหรือน้ำผึ้ง  หยอดให้เด็กอ่อนที่คลอดได้ราวๆ 2 – 3 วัน  กินเป็นยาขับลม
3.ขมิ้น

ชื่อไทย ขมิ้น
ชื่อพื้นเมือง ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขมิ้นชัน (กลาง) ขี้มิ้น (ใต้)
ตายอ (กะเหรี่ยง - กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Linnaeus
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มีลำต้นใต้ดิน เรียกส่วนที่เป็นลำต้นว่าเหง้า ลำต้นส่วนที่เหนือ
ดินมีความสูง ประมาณ 1 เมตร ใบมีขนาดยาว 2 – 3 ฟุต
ปลายใบมน ใบมีสีเขียว ดอกมีสีขาวแกมเหลือง มักขึ้นรวมกันอยู่
เป็นกอ ๆ เหง้าจะมีเนื้อสีเหลืองจัด เจริญในดินปนทรายให้เหง้า
มากกว่าปลูกในดินธรรมดา เจริญได้ดีในฤดูฝน
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้า
สรรพคุณและวิธีใช้ 1. เมื่อถูกยุงกัด จะรู้สึกคันและมีตุ่มขึ้น บริเวณที่ถูกยุงกัด ให้นำเหง้าขมิ้นมาขูดเอาเนื้อขมิ้นทาบริเวณที่ถูกกัด จะทำให้หายคัน และตุ่มจะยุบหายไป
2. นำผงเหง้าขมิ้นมาผสมกับน้ำฝน คนให้เข้ากัน ใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนเช้าและเย็น
3. เอาผงเหง้าขมิ้นมาละลายน้ำ ใช้ทาบริเวณที่ถูกยุงกัดบ่อย
4. ผสมเหง้าขมิ้นกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 4 ครั้ง
5. นำเหง้าขมิ้นขนาดพอสมควรมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ เจือน้ำสุกเท่าตัว กินครั้งละประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง อาจเติมเกลือเล็กน้อย เพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น ใช้รักษาอาการท้องร่วง
6. ผสมผงเหง้าขมิ้น 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู 2-3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆและคนไปเรื่อยๆ จนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง ใช้น้ำมันที่ได้ใส่แผลหรือจะใช้ขมิ้นที่ล้างให้สะอาดแล้วมาตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำใส่แผลสดก็ได้
 4. กระเทียม

ชื่อไทย กระเทียม
ชื่อพื้นเมือง หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium Sativum Linnaeus
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชล้มลุกมีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว หัวมีกลีบย่อยหลายกลีบ
ติดกันแน่นเนื้อสีขาวมีกลิ่นฉุนการปลูกจะใช้กลีบกระเทียมเป็นพันธุ์ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดีกระเทียมจะลงหัวในช่วงที่มีอากาศหนาว ดังนั้นจึงปลูกได้ดีเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ
ประเทศไทย
ส่วนที่ใช้เป็นยา หัว
สรรพคุณและวิธีใช้ 1. นำใบมีดสะอาดขูดผิวหนังส่วนที่เป็นเกลื้อน และฝานหัวกระเทียมทาถูลงไปทำอย่างนี้ เช้า – เย็น ติดต่อกันประมาณ 10 วัน
2. ฝานหัวกระเทียมทาบริเวณที่เป็นกลาก เช่นเดียวกับข้อ 1
3. ปอกหัวกระเทียมเอาเฉพาะเนื้อใน 5 กลีบ หั่นซอยให้ละเอียดกินหลังอาหารทุกมื้อ สำหรับรักษาอาการจุกเสียดแน่น อืดเฟ้อ
  5. ขิง


ชื่อไทย ขิง
ชื่อพื้นเมือง ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่)
สะเอ (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Rosscoc
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ชอบสภาพดินปลูกที่ร่วนซุย ระบายน้ำดี ขยายพันธุ์โดยใช้
ท่อนพันธุ์แง่งขิง ตัดขนาดให้มี 1-3 ตาเมื่อเจริญเติบโตครบ
6 เดือน สามารถขุดขายเป็นขิงอ่อนได้ และเมื่อครบ 10 - 12
เดือน สามารถขุดขายเป็นขิงแก่ได้ โดยสังเกตเมื่อขิงแก่จะเริ่ม
ทิ้งใบโทรมลง แต่ลำต้นสะสมอาหารใต้ดินยังอยู่ในสภาพที่
สมบูรณ์
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้า
สรรพคุณและวิธีใช้ 1. ใช้เหง้าสดขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่มรักษาอาการท้องอืด จุกเสียด ปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียน
2. ฝนเหง้ากับน้ำมะนาว ผสมเกลือเล็กน้อยใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ระงับอาการไอและขับเสมหะ
6.ข่า

ชื่อไทย ข่า
ชื่อพื้นเมือง กฎกกโรห์นี (กลาง) ข่าหยวก ข่าหลวง (เหนือ)
เสะเออเดย สะเอเชย (กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Languas galangal Linnaeus Stuntz
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นก้านกลมแข็ง ใบสีเขียวแข็งหนา มีดอก
จากกอขึ้นไปเป็นช่อใหญ่สี ขาวประสีม่วงแดง ลูกกลม
ขนาดลูกหว้า ลงหัวเป็นปล้องๆ แง่งยาว มีสีขาวอวบ
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้า
สรรพคุณและวิธีใช้ 1. ใช้เหง้าขนาดเท่าหัวแม่มือ ถ้าเป็นเหง้าสดจะหนักประมาณ 5 กรัม ถ้าแห้งหนักประมาร 2 กรัม ทุบให้แตกต้มเอาน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง
2. เอาเหง้าข่าแก่ๆ มาล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบาง ๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่ในเหล้าโรงทิ้งค้างคืน 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูผิวหนัง บริเวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อนจนแดง และแสบเล็กน้อย แล้วอาข่าที่แช่ไว้ ทาบริเวณนั้น จะรู้สึกแสบๆ เย็น ๆ ใช้ทาเช้าและเย็น หลังอาบน้ำทุกวันติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ กลากเกลื้อนจะจางหายไปเมื่อหายแล้วควรทาต่อไปอีก 1 สัปดาห์ และต้มเสื้อผ้าทุกชิ้น เพื่อให้หายขาด
 7.ว่านหางจระเข้

ชื่อไทย ว่านหางจระเข้
ชื่อพื้นเมือง หางตะเข้ (กลาง) ว่านไฟไหม้ (เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe barbadensis Mills
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก สูง 0.5 -1 เมตร ข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว เรียงรอบ
ต้น กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 30-80 เซนติเมตร อวบน้ำมาก
สีเขียวอ่อน หรือเขียวเข้ม ภายในมีวุ้นใส ใต้ผิวสีเขียวมีน้ำยางสี
เหลือง ใบอ่อนมีประสีขาว ดอกช่อ ดอกยาว50-100 เซนติเมตร
ออกจาดกลางต้น ดอกย่อยเป็นหลอดห้อยลง สีส้ม บานจากล่าง
ขึ้นบน แตกได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ
สรรพคุณและวิธีใช้ 1. นำใบมาล้างให้สะอาด โดยเฉพาะตรงรอยตัด ต้องล้างยางออกให้หมดปอกเปลือกทางด้านโค้งออก โดยระวังไม่ให้มือ ถูกชิ้นวุ้น ใช้มีดสับวุ้น และขูดวุ้นออกใส่ถ้วยที่สะอาด นำ น้ำเมือกที่ได้จากวุ้นไปใช้ทางรักษาแผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฝี และแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
2. ใช้วุ้นแปะแผลในปากหรือแผลที่ริมฝีปากบ่อยๆแผลจะหายเร็วขึ้น
 8.ตะไคร้

ชื่อไทย ตะไคร้
ชื่อพื้นเมือง คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ไคร(ใต้) จะไคร(เหนือ)
หัวสิงไค(เขมร-ปราจีนบุรี) เซิดเกรย เหลอะเกรย(เขมร-สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cybopogon Sitratus De Candolle Stapf
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง ๐.๗๕ - ๑.๒ เมตร แตกเป็นกอเหง้า
ใต้ดินมีกลิ่นเฉพาะ ข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล
หรือขาวปนม่วง ยาวและหนาหุ้มข้อและปล้องไว้แน่น ใบ
เดี่ยวเรียงสลับ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๗๐-๑๐๐ ซม. แผ่นใบและ
ขอบใบสากและคม ออกดอกยาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา ต้นและราก
สรรพคุณและวิธีใช้ นำตะไคร้ทั้งต้นและรากมา 5 ต้น สับให้เป็นท่อนต้มกับน้ำ 3 ส่วนและเกลือเล็กน้อย ต้มให้เหลือ 1 ส่วน กินครั้งละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ติดต่อกัน 3 วัน สำหรับรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และจุกเสียดแน่น
9.ฟ้าทะลายโจร


ชื่อไทย ฟ้าทะลายโจร
ชื่อพื้นเมือง คีปังฮี น้ำลายพังพอน ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู สามสิบดี คีปังฮี
ซีปังกี ชวนซินเหลียน ซวงซิมไน้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูง30-60 เซนติเมตร ลำต้นตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปใบหอก กว้าง1-2.5เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร คนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบสีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 2-8 มิลลิเมตร ดอกช่อแยกแขนงออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาวเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบน 2 กลีบ ปากล่าง 3 กลีบ ซึ่ง 2 ข้างมีแถบสีม่วงแดง และกลีบกลางมีแต้มสีม่วงตรงกลางกลีบ ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ยาวได้ 2 เซนติเมตร เมล็ดประมาณ 6 เมล็ดต่อช่อง รูปไข่สีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ ต้น
สรรพคุณและวิธีใช้ รักษาโรคอุจจาระร่วง และบิด แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน แก้ไข้ ป้องกันหวัด มีฤทธิ์ลดอาการท้องเสีย เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร


บทที่  ๕
สรุปผล  อภิปรายผล  ประโยชน์ที่ได้รับ และข้อเสนอแนะ
สรุปผลการศึกษา
จากการสำรวจพืชสมุนไพรที่พบภายในบริเวณโรงเรียนและหมู่บ้านระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือน ธันวาคม 2556 พบพืชสมุนไพรทั้งหมด 9 ชนิด โดยจำแนกพืชสมุนไพร ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะ สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีใช้ ขนาดในการใช้ และใช้กับโรคที่เกิดขึ้น แตกต่างกัน                  
จากการศึกษาพืชสมุนไพรที่พบในโรงเรียนและท้องถิ่นมีทั้งหมด 9 ชนิด มีผลการศึกษาดังนี้
1.ชื่อสมุนไพร: มะนาว  
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ผล
วิธีใช้: ใช้ผลสดคั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยชงกับน้ำร้อนดื่ม                
สรรพคุณ: รักษาอาการไอและขับเสมหะ
2.ชื่อสมุนไพร: กะเพรา      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ผล
วิธีใช้: ใช้ใบและยอดต้มเอาน้ำดื่ม                
สรรพคุณ: แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง
3.ชื่อสมุนไพร: ขมิ้น      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: เหง้า
วิธีใช้: นำเหง้ามาตำจนละเอียดคั้นเอาน้ำใส่แผลสด                
สรรพคุณ: รักษาแผลสด
4.ชื่อสมุนไพร: กระเทียม      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: หัว
วิธีใช้: ขูดผิวหนังส่วนที่เป็นเกลื้อนทิ้งฝานหัวกระเทียมทาถูลงไป                
สรรพคุณ: แก้กลากเกลื้อน
5.ชื่อสมุนไพร: ขิง      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: เหง้า
วิธีใช้: ฝนเหง้าขิงกับน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อยใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ                
สรรพคุณ: ระงับอาการไอและขับเสมหะ
6.ชื่อสมุนไพร: ข่า      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: เหง้า
วิธีใช้: ใช้เหง้ามาทุบให้แตกต้มเอาน้ำดื่ม                
สรรพคุณ: แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง
7.ชื่อสมุนไพร: ว่านหางจระเข้      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ใบ
วิธีใช้: นำใบมาปอกเปลือกขูดเอาวุ้นและใช้น้ำเมือกที่ได้จากวุ้นใส่แผล                
สรรพคุณ: รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
8.ชื่อสมุนไพร: ตะไคร้      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ต้น
วิธีใช้: สับต้นและรากต้มกับน้ำ3ส่วนใส่เกลือเล็กน้อยจนเหลือ 1 ส่วนเอาน้ำดื่ม                
สรรพคุณ: รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจุกเสียดแน่น
9.ชื่อสมุนไพร: ฟ้าทะลายโจร      
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ใบ
วิธีใช้: นำใบผึ่งให้แห้งบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งเป็นยาเม็ดลูกกลอนใช้กิน                
สรรพคุณ: แก้อาการเจ็บคอ

อภิปรายผลการศึกษาค้นคว้า
จากการสรุป ลักษณะ สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีการใช้ และขนาดในการใช้ของพืชสมุนไพรทั้ง 9 ชนิด พบว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิดมี ลักษณะ สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีการใช้ และขนาดในการใช้ ที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย เล็ก ๆน้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาตามร้านขายยามารับประทานซึ่งสรรพคุณทางยาเหมือนกัน การใช้พืชสมุนไพรชนิดใดรักษาโรคใดนั้นต้องใช้ให้ถูกกับโรคให้ถูกกับชนิดของพืชสมุนไพร ไม่อย่างนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผล ข้างเคียงต่อผู้ใช้ ซึ่งน่าจะเป็นการรักษาแต่เป็นการเพิ่มอันตรายเสียอีก การใช้ไม่ควรที่จะใช้นานจนเกินไป ถ้าอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีความผิดปกติหลังใช้ควรที่จะต้องไปปรึกษาแพทย์ทันทีและที่สำคัญควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรไว้ เพราตอนนี้ค่อนข้างหายาก ซึ่งสามารถปลูกไว้ที่บ้าน ง่ายต่อการรักษาโรคต่างๆ เล็กน้อย ๆที่เกิดขึ้นได้                                               ดังนั้นถ้ารู้ว่าในโรงเรียนหรือท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่มีพืชสมุนไพรกี่ชนิด มีอะไรบ้าง รู้ ลักษณะสรรพคุณ ประโยชน์ วิธีการใช้ ขนาดในการใช้ ก็สามารถที่จะใช้ความรู้ที่ได้นั้นนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดคนในครอบครัว ในชุมชน โรงเรียนเกิดเจ็บๆป่วยเล็กน้อยๆ ได้ก็สามารถรักษาได้ทันที และ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดก่อนไปถึงมือแพทย์

ข้อเสนอแนะ
1. ควรที่จะสำรวจและศึกษาพืชสมุนไพรในพื้นที่ ที่กว้างมากกว่านี้ เพราะพื้นที่อื่น ๆ อาจจะมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ไม่รู้จักและมีประโยชน์
2. ควรที่จะมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรียนให้มาก ๆ
3. ควรที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรให้มากขึ้นกับนักเรียน และคนในท้องถิ่น
4. ควรที่จะให้คนในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรในท้องถิ่นไว้ให้มาก ๆ